SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4
กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้บ้างจากปัจจัยด้านอุปทานและจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าการสื่อสารของ กนง. ในรอบนี้มีท่าที Dovish มากขึ้นจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) กนง. ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า การบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอลง และยังต้องติดตามว่าการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรงในไตรมาส 2 เป็นปัจจัยชั่วคราวมากเพียงใด 2) กนง. ให้ความสำคัญของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่สินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัว และ 3) กนง. เริ่มให้ความสำคัญกับการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงิน ซึ่งสะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น และอาจกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจตามมา
IMPLICATIONS
SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 และจะลดอีกครั้งในไตรมาส 1/2025เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินในประเทศ หลังจากภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความเปราะบางทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้แรงส่งเศรษฐกิจไทยจากอุปสงค์ในประเทศแผ่วลงจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ทำให้นโยบายการเงินไทยจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทประคับประคอง Momentumของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามากขึ้น
SCB EIC มองว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังคงเป็นไปตามที่ กนง. ประเมินไว้ สะท้อนจากตัวเลขการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ที่ออกมาใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาองค์ประกอบการขยายตัวจะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงของแรงส่งอุปสงค์ในประเทศ (รูปที่ 1) สะท้อนว่าในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่อุปสงค์ในประเทศจะไม่สามารถเป็นแรงประคับประคองเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และหากขจัดปัจจัยฐานและปัจจัยชั่วคราวจากราคาพลังงานและอาหารสดออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่มีต่ำ สัญญาณการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศนี้ทำให้ SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้
ภาวะการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับตึงตัว สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (รูปที่ 2) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าในอดีตค่อนข้างเร็ว นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 3) ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่ได้มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt Deleveraging) นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจไทยที่สูงขึ้น SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-210824