ออมสิน เปิดแผนธุรกิจ 4 ปี ภายใต้การนำของ วิทัย รัตนากร สมัยที่ 2 ตั้งเป้าปรับลดกำไรเพื่อสร้าง Social Impact พร้อมยกระดับสนับสนุนนโยบายรัฐ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติอนุมัติต่อสัญญาจ้างให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นสมัยที่ 2 มีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบทิศทางการดำเนินงานธนาคารระยะ 4 ปี (2568 –2572) ที่ก้าวต่อไปของธนาคารออมสินจะยังคงจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อขยายผลการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถทำภารกิจและโครงการช่วยเหลือประชาชนและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้น ผ่านบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ 1) บทบาทการเพิ่ม/ขยายโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง 2) บทบาทการแก้ปัญหาหนี้สิน 3) บทบาทการพัฒนาชุมชน/สังคม และ 4) บทบาทการสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนขยายผลการสร้าง Social Impact ทั้งในเชิงลึกและวงกว้างมากขึ้น เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนว่าบทบาทการช่วยเหลือสังคมทั้ง 4 ด้านนี้ มีความสำคัญเหนือกว่าภารกิจการสร้างอัตรากำไรทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่มีการบริหารงานแบบกลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ให้บริการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPL และ NPA บริษัท เงินดีดี จำกัด ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลกลุ่มลูกค้าฐานราก ผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money” และบริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีสนับสนุนธนาคาร
ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เห็นชอบการปรับเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถออกมาตรการหรือจัดทำโครงการที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้มากขึ้น อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงมาตรการลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาหนี้สิน
จากความสำเร็จของ “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันธนาคารสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์ผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆ เช่น การช่วยประชาชนกลุ่มเครดิตต่ำและไม่มีเครดิตให้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบแล้วกว่า 3 ล้านคน มีผู้เข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแล้วกว่า 5 ล้านคน เป็นต้น โดยธนาคารมีความมั่นคงแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจด้วยปริมาณเงินสำรองรวมเพิ่มขึ้นแตะระดับ 125,948 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวม 24 ล้านรายในปัจจุบัน ทั้งนี้ การเดินหน้าภารกิจตามจุดยืนธนาคารเพื่อสังคม และตั้งเป้าขยายผลการสร้าง Social Impact ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม