คปภ. ตรวจสอบกรณีจ้างเด็กเอ็นติดเชื้อ หวังเคลมประกันโควิด
เลขาธิการ คปภ. สั่งทีมกฎหมายตรวจสอบกรณีโพสต์ออนไลน์จ้างเด็กเอ็นติดเชื้อหวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงให้ดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เพราะอาจเข้าข่ายไม่สุจริต หรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจชวดเงินประกันภัย
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประกาศจ้างเด็กเอ็น โดยขอเป็นเด็กเอ็นที่ต้องติดเชื้อโควิดเท่านั้น และมีผลตรวจ ATK ยืนยันผล เพื่อต้องการติดเชื้อโควิดและเรียกร้องเอาเงินประกันภัยจากบริษัทประกันภัย การกระทำในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งทีมสายกฎหมายและคดีเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิด (covid-19) กับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเร่งตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย(โควิด-19) หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยมีกลไกการป้องกันที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถกระทำได้ คือ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 โดยให้บริษัทมีระบบตรวจทานความถูกต้องของการรับประกันภัยและข้อมูลเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนในเงื่อนไขกรมธรรมประกันภัย เจอ จ่าย จบ จะมีกำหนดเงื่อนไขทั่วไป “กรณีมีเหตุสงสัยว่าการเรียกร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ให้บริษัทฯ มีสิทธิตรวจสอบและขยายระยะเวลาการจ่ายออกไปตามความจำเป็นไม่เกิน 90 วัน” ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลมเพราะบริษัทมีสิทธิอ้างเป็นเหตุใช้เวลาในการตรวจสอบ
เลขาธิการ คปภ. ฝากย้ำเตือนประชาชนว่ากรณีเมื่อทำประกันภัยแล้ว และเข้าไปที่เสี่ยงเพื่อหวังผลให้ติดเชื้อแล้วเคลมประกันหรือเอาตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อ เพื่อหวังเงินประกันภัย บริษัทอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเป็นกรณีมีการเจตนา จงใจ โดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากมีหลักฐาน และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยจะมีความผิดทางอาญาด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ต้องการให้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่จะทำให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวของประชาชนผู้สุจริตต้องเสียไป และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นพฤติการณ์นี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนอย่างทุกรูปแบบ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบประกันภัย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ในทุกสถานการณ์ หากประชาชนพบพฤติกรรมดังกล่าวขอให้รีบแจ้งสำนักงาน คปภ. เพื่อจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน หากพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ก็จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด หากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย หรือต้องการข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย