ธนาคารไทยพาณิชย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนจัดแข่งขันโครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” ปีที่ 19 ระดับประถมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ เวทีโอกาสที่เป็นมากกว่าการแข่งขัน

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชน จัดการแข่งขันสร้างสรรค์จินตนาการผ่านศิลปะในโครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” ปีที่ 19ประจำปี 2567 ระดับประถมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ เวทีโอกาสที่เป็นมากกว่าการแข่งขัน โดยมี นายกฤษณ์ จันทโนทก กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้มอบรางวัล พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ผศ.ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปทุมมา บำเพ็ญทาน อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และอาจารย์ธีร์พาทิศ บุญวิจิตรนิธิธร หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเปิดงาน ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในโอกาสนี้ ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” ในหัวข้อ “สานพลังเด็กดี…สร้างสุขในสังคม” ซึ่งจัดแสดงผลงานของน้อง ๆ ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับภูมิภาค ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

นายกฤษณ์ จันทโนทก กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าโครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” ระดับประถมศึกษา เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่ธนาคารภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพเยาวชน เสริมสร้างพัฒนาการ ทักษะการเรียนรู้ และประสบการณ์นอกห้องเรียน ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสวางแผน ลงมือทำจริง ส่งเสริมจินตนาการอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พัฒนาคุณลักษณะที่ดี 4 ด้าน (4Cs) ประกอบด้วย การคิดแบบวิจารณญาณ (Critical Thinking) การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย (Communication) การทำงานเป็นทีม (Collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) พร้อมปลูกฝังคุณธรรมความดีให้เยาวชนเป็นทั้งเด็กดีและเด็กเก่ง เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ดี ภายใต้แนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ”

ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “โครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” มีการออกแบบกระบวนการแข่งขันที่แตกต่างจากการแข่งขันทั่วไปโดยสิ้นเชิง เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศได้มีส่วนร่วม กิจกรรมมีความหลากหลาย ไม่เพียงแต่ให้เยาวชนได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ได้เรียนรู้มากขึ้น นอกจากนักเรียนแล้ว ครูก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน กระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษาด้านศิลปะ ระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมาได้เห็นพัฒนาการของโครงการ ซึ่งครูหรือนักการศึกษาศิลปะสามารถนำไปปรับใช้ได้ เด็ก ๆ ที่ผ่านจากเวทีนี้ทุกคนมีศิลปะนิสัย ไม่ว่าจะเติบโตไปเรียนสาขาไหน ประกอบอาชีพอะไร สิ่งนี้จะติดตัวไป สามารถนำเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และมีหลายคนที่ใช้ศิลปะเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านศิลปะ”

ผศ.ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการตัดสิน กล่าวว่า “โครงการนี้มีความสำคัญในการปลูกต้นกล้าให้กับประเทศ เป็นกล้าใหม่ที่พร้อมจะเติบโตแข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์จัดมาอย่างต่อเนื่อง มีผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาเยาวชนอย่างครบวงจร นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ครูและสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศยังได้มีส่วนร่วม ผมในฐานะผู้ออกแบบกระบวนการแข่งขันได้มีการวางแผนเป็นเวลานานเพื่อให้ออกมาดีที่สุด เป็นวิธีการบ่มเพาะที่มีทฤษฎีรองรับ พยายามเพิ่มเติมให้เด็กได้แสดงศักยภาพความเป็นเด็กออกมาได้มากที่สุด ได้ลงมือทำเอง เกิดประสบการณ์จริง ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ยั่งยืน ฝังอยู่ในตัวเด็ก สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาตัวเองในด้านอื่น ๆ และการดำเนินชีวิตต่อไป”

ในปีนี้มีเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 160 ทีม ๆ ละ 4 คน (คละชั้นปีระหว่างประถมศึกษาปีที่ 1 – 6) แบ่งการแข่งขันเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และธนาคารได้คัดเลือกทีมตัวแทนที่มีผลงานยอดเยี่ยมภาคละ 5 ทีม รวม 20 ทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ในหัวข้อ “ความดี วิถีไทย” ภายหลังได้รับโจทย์ น้อง ๆ ได้ประมวลความคิด จินตนาการร่วมกันภายในทีม และถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบ ขนาด 2×3 เมตร ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดเพียง 2 ชั่วโมง นอกจากการแข่งขันแล้ว น้อง ๆ ยังได้ไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการเงินการธนาคารของประเทศไทย ชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อจุดประกายให้เยาวชนได้ร่วมสืบสานรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

            ผลการแข่งขัน มีดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศ: โรงเรียนบ้านเอราวัณ จ.เลย
  • รองชนะเลิศอันดับ 1: โรงเรียนสารสาสน์วิเทศเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
  • รองชนะเลิศอันดับ 2: โรงเรียนพิมานวิทย์นราธิวาส จ.นราธิวาส
  • รางวัลชมเชย 4 รางวัล ได้แก่

–  โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ จ.ภูเก็ต

–  โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดทุ่งสวน) จ.กำแพงเพชร

–  โรงเรียนผดุงวิทย์ จ.เพชรบูรณ์

–  โรงเรียนวัดสมัยสุวรรณ จ.สุราษฎร์ธานี

            ผลงานของน้อง ๆ ในรอบชิงชนะเลิศทั้งหมด จะนำไปจัดนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม – 15 มีนาคม 2568 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (เว้นวันหยุดธนาคาร) เวลา 9.30 – 16.30น. ติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook : SCB Challenge “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” 

You might also like