KBank Private Banking ร่วมกับ J.P. Morgan และ UBS ชี้ตลาดหุ้นจีนยังมีโอกาส แม้ความเสี่ยงยังคงอยู่ แนะนักลงทุนแบ่งสัดส่วนลงทุนในจีนได้ โดยกระจายความเสี่ยงผ่านกองทุนหุ้นเอเชีย

KBank Private Banking ร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) และ UBS Asset Management จัดงานสัมมนาในหัวข้อ Taking Sides on China’s Rally: Sustainable Gain or Short-term Hype? เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดหุ้นจีนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลจากความผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่สหรัฐฯ ได้ผู้นำคนใหม่ ซึ่งตลาดมองว่าสงครามกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทวีความรุนแรง แต่ก็ยังเห็นโอกาสลงทุน แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของทางการจีน พร้อมกันนี้ ยังมี ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิเคราะห์โอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว อย่างไรก็ดี KBank Private Banking แนะนักลงทุนไม่ควรลงทุนหุ้นจีนประเทศเดียว แต่ให้กระจายความเสี่ยงผ่านกองทุนหุ้นเอเชียโดยรวมแทน
นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ใกล้เข้าสู่ช่วงสิ้นปีของปี 2567 โดยรวมนับว่าปีนี้เป็นปีที่ดีของการลงทุน หลายๆ สินทรัพย์การลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้อย่างน่าพอใจ อย่างไรก็ดีในปี 2567 มีหลายปัจจัยสำคัญที่กระทบภาคลงทุนที่ต้องติดตามและจับตา เช่น ความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ แต่คาดว่าจะจบปีด้วยภาพ Soft landing การติดตามและเฝ้ารอให้ Fed ทยอยลดดอกเบี้ย แต่ที่น่าจับตาที่สุดคือในสหรัฐฯ ซึ่งได้               นายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว  ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับตลาดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นจีน ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเองก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและทั่วถึง ประกอบกับเมื่อสหรัฐฯ ได้ผู้นำคนใหม่ที่ตลาดเชื่อว่าจะมุ่งเป้าไปที่การสกัดไม่ให้จีนเติบโต ก็ยิ่งสร้างความกังวลให้นักลงทุน
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจจีน คือ ปัญหาความเชื่อมั่น โดยเฉพาะปัญหาจากภาคอสังหาฯ ซึ่งความมั่งคั่งส่วนมากของประชาชนจีนอยู่ในการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดมองว่าการเข้าช่วยเหลือภาคอสังหาฯ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี เป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนระหว่างความคาดหวังของตลาดและรัฐบาลจีนไม่ตรงกัน เนื่องจากตลาดคาดหวังมากเกินไป โดยนักลงทุนมองว่ารัฐบาลจีนควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาภาคอสังหาฯ ด้วยการเข้าอุ้ม ในขณะที่ รัฐบาลจีนต้องการปรับโครงสร้างและลดความเสี่ยงระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพ และต้องการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจาก Old Economy เป็น New Economy เพื่อให้จีนไปถึงเป้าหมาย GDP เติบโตราว 5% ซึ่งจีนจะต้องมีแรงหนุนมาจากภาคเศรษฐกิจใหม่ เช่น พลังงานสะอาด และเทคโนโลยี นอกจากนี้ โอกาสด้านอื่นๆ ที่จะทำให้จีนเติบโตได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) ความได้เปรียบจากขนาดที่ใหญ่ของประเทศ 2) อัตราการออมสูง 3) ความก้าวหน้า และการสนับสนุนทางเทคโนโลยี และ 4) กระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนยังมีอยู่เยอะ อย่างไรก็ดี ยังความเสี่ยงสำคัญในปัจจุบันหลังสหรัฐฯ ได้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกำแพงภาษีถึงนำเข้าที่สูงกว่าเดิมถึง 4 เท่า ในมุมหนึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่คำขู่ เพราะทำจริงได้ยาก และภาษีที่สูงเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองด้วย เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับสูง แตกต่างจากสถานการณ์ในรอบก่อนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แต่ในอีกฝั่งหนึ่งที่มองว่าทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าอย่างรุนแรง เพราะต้องการหารายได้มาทดแทนส่วนที่จะเสียไปจากนโยบายการลดภาษีนิติบุคคล แต่ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เองเช่นกัน ทั้งนี้ ทุกอย่างสะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่สูงมาก ดังนั้น ปี 2568 จะมีเรื่องให้นักลงทุนจับตามากกว่าปีนี้ โดยภูมิภาคที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้านลบมากที่สุด คือ กลุ่มประเทศเกิดใหม่
ด้าน นายอเล็กซานเดอร์ เทรฟ Managing Director, Head of Investment Specialist Team จาก J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) และ นางสาวเดนิส เจิ้ง Executive Director, Equity Specialist Emerging Markets Equities and China Equities จาก UBS Asset Management ให้ความเห็นสอดคล้องกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ ว่า โดยรวมด้านพื้นฐานเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศออกมาในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นในการพยุงการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าการกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังจะยังไม่ได้มากเท่าที่ตลาดประเมินและคาดหวังไว้ ในขณะที่ ในภาคครัวเรือนของจีนก็ไม่ได้มีความต้องการเงินสนับสนุน เนื่องจากระดับการออมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในจีนที่เป็นปัญหาและต้องการการกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่อง โดยทั้ง J.P. Morgan Asset Management และ UBS Asset Management มีมุมมองเชิงบวกต่อโอกาสการลงทุนในหุ้นจีน เนื่องด้วยราคาพื้นฐานของหุ้นจีนยังถือว่าถูก อย่างไรก็ดี    การลงทุนหุ้นจีนต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง และต้องให้ความสำคัญกับในการคัดสรรหุ้นที่มีคุณภาพ โดยเน้นไปที่บริษัทที่มีอัตราการทำกำไรดี และปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ดังนั้น การลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในตลาดจีนถือว่าเป็นคำตอบสำคัญเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว แม้ว่าอาจจะต้องใช้ความอดทนในการข้ามผ่านความไม่แน่นอนในระยะสั้น โดยเฉพาะหลังจากได้สหรัฐฯ ได้ทรัมป์เป็นผู้นำคนใหม่ ซึ่งมีนโยบายที่พุ่งเป้าโจมตีจีน ทั้งนี้ยังแนะนำให้นักลงทุนควรที่จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ต โดยกลยุทธ์การเข้าหรือออกการลงทุนควรทำแบบเฉลี่ยเข้า และออกเป็นหลายๆ ไม้ที่หลายๆ ราคา
ด้านพอร์ตการลงทุนของกองทุน K-CHINA ที่บริหารการลงทุนโดย J.P. Morgan Asset Management จะเน้นลงทุน Overweight ในกลุ่ม New Economy เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มพลังงานสะอาด ขณะที่ Underweight กลุ่มการเงินโดยเฉพาะธนาคารที่มีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์สูง ขณะที่ กองทุน K-CCTV ที่ส่วนหนึ่งบริหารพอร์ตลงทุนโดย UBS Asset Management เน้นลงทุนในกลุ่มสินค้าคงทน และ Health Care รวมถึงมีการบาลานซ์ระหว่างการลงทุนในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาครัฐฯ และบริษัทเอกชนที่มีอัตราการเติบโตสูง
นางสาวศิริพร กล่าวปิดท้ายว่า “ในภาวะปัจจุบันที่ตลาดหุ้นจีนกำลังอยู่ในช่วงผันผวน ประกอบกับนโยบายของทางฝั่งสหรัฐฯ เองที่อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก และมาตรการรับมือของจีนที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา โดยคำแนะนำปัจจุบันสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นจีนของ KBank Private Banking คือไม่ควรลงทุนหุ้นจีนประเทศเดียวในพอร์ตลงทุน แต่ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นจีนเล็กน้อยแบบกระจายความเสี่ยงผ่านกองทุนหุ้นเอเชียโดยรวม ผ่านกองทุน KFHASIA ในสัดส่วน 1-6% ของพอร์ตการลงทุน และมองว่านักลงทุนที่สามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้”
You might also like