ธนาคารกรุงเทพ ติดทำเนียบ ESG100 ปี 2567 ตอกย้ำการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ-สนับสนุนลูกค้า ชุมชน และสังคมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100   ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จากการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียน ในปี พ.ศ.2567 โดยสถาบันไทยพัฒน์     ตอกย้ำถึงการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนลูกค้า ชุมชนและสังคมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันไทยพัฒน์ประกาศให้ ธนาคารกรุงเทพ ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2567 ด้วยการคัดเลือกจาก 920 หลักทรัพย์จดทะเบียน ให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นทั้งหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานด้าน ESG ควบคู่ไปกับผลประกอบการของธนาคาร
“การได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2567 นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่
น่าภาคภูมิใจของธนาคารกรุงเทพซึ่งมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยส่งผ่านจากนโยบายมาสู่การดำเนินงานทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ธนาคารได้เปิดตัว “สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ธนาคารกรุงเทพมั่นใจว่าจะสามารถเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ ที่สนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวที่สามารถปรับตัวได้ดีและพร้อมแข่งขันท่ามกลางความท้าทายในอนาคต” นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ ที่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ
ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘Creating Value for a Sustainable Future – สรรค์สร้างคุณค่าเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’   โดยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการธุรกิจทั้ง 5 มิติ ประกอบด้วย
• Be Responsible – การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยสนับสนุนการลงทุนในโครงการ
ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและ
การเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม
• Be Resilient – การรับมือกับภาวะวิกฤต โดยการบริหารจัดการป้องกันความเสี่ยง เพื่อสร้าง
ความมั่นใจว่าธนาคารสามารถตอบสนองต่อภาวะวิกฤตและความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนลูกค้า ชุมชนและสังคมสามารถฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้อย่างยั่งยืน
• Be Caring – การใส่ใจดูแลพนักงาน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานสามารถพัฒนาทักษะได้
อย่างต่อเนื่องและเติมเต็มความใฝ่ฝันทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน
• Be Customer Centric – การดำเนินธุรกิจโดยยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกย่างก้าว ตลอดจนสร้างเสริมและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
• Be Ethical – การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมปลูกฝังธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร พร้อมสนับสนุนให้คู่ค้าปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและไม่ยอมรับ
การทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
ความมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าว นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นำโดยการสนับสนุนการระดมทุนแก่กิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของภาครัฐและเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้าน ESG (Environmental, Social and Governance)    โดยในปี 2566 ตลาดทุนไทยมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ด้าน ESG รวม 37,366 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าธุรกรรมที่ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย 28,366 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย รวมถึงร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในเครือ คัดเลือกและเสนอขายกองทุนเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 9 กองทุน คิดเป็นมูลค่า 14,732.15 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้พัฒนาโครงการสินเชื่อพิเศษเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพัฒนาโครงการลงทุนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านสินเชื่อบัวหลวงกรีน (Bualuang Green Loan) วงเงินรวมกว่า 720 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ รวมถึงในปี 2566 ธนาคารได้สนับสนุนบัวหลวงกรีน Solar Energy (Bualuang Green Solar Energy) วงเงินรวมกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับธุรกิจที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (Transformation Loan) ด้านการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และล่าสุดได้พัฒนา “สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability)  เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ใน 3 ด้าน คือ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3) ลดการสร้างมลพิษ โดยจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ถึง 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 8 ปี
สำหรับสถาบันไทยพัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์ จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี 2558 และได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่สิบ ขณะเดียวกัน การจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจนี้ ถือเป็นแหล่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน

You might also like