บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (UOBAM) เสนอบทความเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้ยั่งยืน ESG Bond ว่าตราสารฯ ดังกล่าวมีกี่รูปแบบ และมีความแตกต่างกันอย่างไร แนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance นั้น หมายถึงการระดมทุนในโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามกรอบแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ โดยใช้เงินทุนกระตุ้นให้บริษัทและองค์กรต่าง ๆ หันมาพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน (ที่มา: United Nation Global Compact)
ตัวอย่างของ Sustainable Finance มีหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนโดยตรงผ่านตลาดหุ้น และกองทุนรวม รวมไปถึงการลงทุนในตราสารหนี้ยั่งยืน หรือคุ้นเคยกันในชื่อ “ESG Bond” ซึ่งบทความนี้จะพาไปรู้จัก ESG Bond ว่าแตกต่างจากตราสารหนี้ปกติอย่างไร มีรูปแบบไหนบ้าง ทำไมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีโอกาสเติบโตสูง
ESG Bond คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ
ESG Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารมีวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งจะต้องได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานกำกับ เช่น The International Capital Market Association (ICMA), ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และ Climate Bonds Standards เป็นต้น (ที่มา: ThaiBMA)
รูปแบบการระดมทุนของ ESG Bond จะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป ต่างกันเพียงวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเท่านั้น โดยสามารถออกได้ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายย่อย
ประโยชน์ของ ESG Bond จึงเข้ามาช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่มาตรฐานโลกกำหนด ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนการเงินที่เหมาะสม สามารถรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ESG Bond ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว พร้อมกับการมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การให้ AI เป็นผู้ช่วยย่นระยะเวลาในการคิดไอเดียพัฒนากระบวนการสร้างเทคโนโลยีสีเขียว (ที่มา: SET investnow ข้อมูล ณ 08/07/2024, KnowESG ข้อมูล ณ 16/06/2023)
รู้จักประเภทของ ESG Bond แต่ละแบบต่างกันอย่างไร?
ปัจจุบันตราสารหนี้ยั่งยืนในตลาดโลกมีหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีการออก ESG Bond ครั้งแรกเมื่อปี 2019 และอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย แบ่ง ESG Bonds ออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย (ที่มา: SET Investnow ข้อมูล ณ 28/09/2022)
- Green Bond: ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ตราสารหนี้ที่มีเป้าหมายการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน, สร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม, การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด และการเกษตรที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- Social Bond: ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม
ตราสารหนี้ที่มีเป้าหมายการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น การเข้าถึงสาธารณูปโภค การเข้าถึงสาธารณสุข การเข้าถึงการศึกษา แก้ปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข เป็นต้น
- ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
ตราสารหนี้ที่มีเป้าหมายการระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม เรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่าง Green Bond กับ Social Bond เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และสร้างชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน
- ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)
ตราสารหนี้ที่มีเป้าหมายการระดมทุนมุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่จะมีเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการดำเนินงานตามตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือสังคม หรือการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร เช่น บริษัทอาจกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายใน 5 ปี หากทำไม่สำเร็จบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
จะเห็นว่า ESG Bond ประเภทต่าง ๆ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การส่งเสริมและยกระดับด้าน ESG ให้ดียิ่งขึ้น เพียงแต่มีจุดที่แตกต่างกันในเรื่องของวัตถุประสงค์การนำเงินทุนไปลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคมที่แตกต่างกัน
ทิศทางการเติบโตของตราสารหนี้ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ตลาด ESG Bond ในประเทศไทย กำลังเติบโตอย่างเนื่อง จากมูลค่า 23,000 ล้านบาทในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 179,866 ล้านบาทในปี 2023 คิดเป็น 7.8 เท่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการออก ESG Bond มากเป็นอันดับสองของประเทศในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (ที่มา: ThaiBMA ข้อมูล ณ 17/07/2023)
โดยตราสารหนี้ที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศ เป็นประเภท Sustainability Bond ตามมาด้วย Green Bond สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐและเอกชนต่างเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ยั่งยืนผ่านการลงทุนในกองทุนรวม บลจ.ยูโอบี แนะนำให้รู้จัก กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซัสเทนเนเบิล เครดิต อินคัม ฟันด์ (USI) ระดับความเสี่ยง 5 – เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ RobecoSAM SDG Credit Income I USD (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ และ/หรือ ภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN SDGs เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอแก่นักลงทุน ซึ่งการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บลจ. ยูโอบี ยังได้รับรางวัล Best ESG Engagement Initiative (Thailand), Asia Asset Management ซึ่งตอกย้ำความเชี่ยวชาญในด้าน ESG อีกด้วย
บทความโดย บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จํากัด ติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ที่ https://www.uobam.co.th/th/Sustainability สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2786-2222